วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของ ชีวิตจิตใจ

ชีวิตจิตใจ


โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ

เวลาคนไทยพูดถึงเรื่องชีวิต มักพูดรวมๆ กันเสมอว่า ชีวิตจิตใจ นับเป็นคำพูดที่ครอบคลุมความหมายแห่งชีวิตไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ชีวิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนาต้องมีจิตใจ หากมีเพียงกายแต่จิตใจไม่มี ความเป็นชีวิตก็หมดไปทันที จิตใจจึงเป็นพลังงานที่สำคัญที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า คนหรือสัตว์จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสถึงความสำคัญของจิตไว้ว่า เป็นประธานแห่งการกระทำและการพูด ถ้าจิตคิดไม่ได้ การพูดที่แสดงออกมาก็พลอยไม่ดีตามไปด้วย ถ้าจิตดี การพูดก็จะพลอยดีตามไปด้วย

การกระทำก็เช่นเดียวกัน หากจิตคิดดี การกระทำก็ออกมาดี ในทางตรงกันข้ามหาก จิตคิดไม่ดี เวลากระทำสิ่งใด ผลของการกระทำก็จะออกมาไม่ดีตามไปด้วย

คนไทยเข้าใจความสำคัญของจิตมานานจึงประดิษฐ์คำขึ้นมาจากผลึกแห่งสัจจะทางใจว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกจิตให้ดี เพราะถ้าจิตดีแล้วจะนำกายและวาจา หรือนำการกระทำและการพูดไปในทางที่ดีด้วย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จิตตัสสะ ทะมะโถ สาธุ แปลว่า การฝึกจิตเป็นความดี

เมื่อเราได้ยินพุทธภาษิตนี้แล้ว ได้แนวทางชีวิตพร้อมๆ กันทั้งสองอย่างคือ ...

1.จิตเป็นสิ่งที่จะต้องฝึก ให้มีความสามารถที่จะดู รู้ เห็น ตามความเป็นจริงว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำแล้วเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น อะไรทำแล้ว สร้างความเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่น อะไรทำไปแล้วได้รับความสุขเป็นผลทั้งตนและผู้อื่น อะไรทำไปแล้วมีความทุกข์แก่ตนและผู้อื่น รู้ชัดว่า ยึดถือเมื่อไร หนักใจเมื่อนั้น ปล่อยไปเมื่อไร เบาสบายเมื่อนั้น รู้จักคิดในสิ่งที่ควรคิด ใช้ความคิดอย่างประหยัดเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ เอาใจออกห่างจากความรู้สึกนึกคิดที่เป็นโทษ ฝึกจิตจนชำนาญในการแยกแยะ ความสงบสงบ ออกจากความวุ่น แยกความเย็นออกจากความร้อน แยกความผ่องแผ้วออกจากความเศร้าหมอง เมื่อฝึกจิตจนชำนาญ จะวางจิตไว้ถูกไม่เป็นทุกข์ หาความสุขได้ง่ายๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสรับรองผลการฝึกเอาไว้ว่า จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้

2.การฝึกจิต เป็นการทำความดีชนิดหนึ่ง หลายคนเคยตั้งข้อสงสัยว่า จะเริ่มต้นทำความดีที่ไหน กับใครดีหนอ หากได้ผ่านมาพบพระพุทธภาษิตบทนี้แล้ว ก็พบทางสว่างว่า การฝึกจิตก็เป็นการทำความดีชนิดหนึ่ง เป็นความดีที่เริ่มต้นได้ที่ตนเองไม่ต้องไปหาสถานที่หรือไปพบใครที่ไหน ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องเสียทรัพย์สินเลยแม้แต่น้อย แค่ตั้งจิตว่าจะฝึกฝนวางจิตไว้กับสิ่งที่ดีๆ การทำความดีก็ได้เริ่มแล้ว ชนชาติไทยได้รับพระพุทธศาสนามาปลูกฝังในสายเลือด ตื่นเช้าขึ้นมาก่อนทำสิ่งใดๆ ก็กล่าวคำแผ่เมตตาเสียก่อน การกล่าวคำแผ่เมตตาออกมาดังๆ เป็นการทำความดีทางวาจา การน้อมจิตคิดถึงผู้อื่นด้วยความรักและความปรารถนาดี เป็นการฝึกจิตชนิดหนึ่ง นับว่า เป็นการเริ่มต้นชีวิตด้วยการทำความดี คือการฝึกจิต ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เมื่อพูดถึงการฝึกจิต พุทธศาสนิกชนมักจะคิดถึงภาพ ของคนที่จะต้องหยุดภารกิจที่บ้าน หยุดการงานแล้วไปพักที่วัดวาอารามหรือสถานที่สงบสงัดเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฝึกจิตทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำกัดว่าเป็นที่ไหน ใส่ชุดอะไร ก็ฝึกจิตได้

ส่วนภาพที่เราเห็นว่าจะต้องใช้เวลาและสถานที่เป็นพิเศษนั้น ก็เป็นเพียงหนึ่งกระบวนการของการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำมาปรับปรุงการฝึกจิตในชีวิตประจำวันให้สมบูรณ์ขึ้น การฝึกจิตอย่างนั้นต้องการเหตุปัจจัยและเงื่อนไขบางประการเช่น ต้องรอเวลาที่ว่าง ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญจนเป็นที่ยอมรับจัดการฝึกอบรมให้ มีความสะดวกเมื่อไร ปฏิบัติได้ ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แต่มิใช่ฝึกแค่นั้นแล้วจะพอเพียง

แต่การฝึกจิตในชีวิตประจำวันนั้น ต้องฝึกตลอดเวลา แต่เวลาที่ต้องตั้งหลักและตั้งใจให้ดีก็คือเวลาที่จิตรับอารมณ์ชอบและชังเข้ามาแต่ละครั้งต้องระมัดระวังมาก เพราะหากเผลอไม่ระวัง ไม่จัดการฝึกตรงนั้น หากใจเอนเอียงตกไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ชอบมากเกินไป จิตใจก็จะลุ่มหลงมัวเมาจนถอนตัวไม่ขึ้น หรือหากใจโน้มเอียงไปทางชังก็จะผลักไส อึดอัดขัดเคืองไม่เป็นปกติ ดิ้นรนเดือดร้อนพลุ่งพล่าน

การฝึกจิตก็คือฝึกให้เป็นปกติ เป็นอิสระจากอำนาจการครอบงำของชอบชังให้มากที่สุด เพราะจิตปกติจะสามารถนำไปใช้งานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซื่อตรงและเป็นธรรมไม่หวั่นไหวเอนเอียง

เปรียบเหมือนเรามีน้ำใสบริสุทธิ์จำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้นำไปใส่สีใส่รสหรือปรุงแต่งเป็นอะไร จะเป็นประโยชน์มากกว่าน้ำที่ถูกนำไปปรุงสี กลิ่น รส แล้ว เพราะสามารถนำน้ำบริสุทธิ์นี้ไปทำประโยชน์ได้อีกมากมายไร้ข้อจำกัด

จิตที่บริสุทธิ์เป็นจิตที่เป็นประโยชน์นำไปใช้ประโยชน์ในการคิด พิจารณาค้นหาความจริงของเรื่องราวต่างๆ ได้อีกมากมายไม่มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน

การดูแลกายให้มีสุขภาพดีมีธาตุอาหารครบถ้วนไม่ขาดไม่เกินพอดีๆ แต่ปล่อยให้จิตใจเศร้าหมอง ซึมเซาเซ็งไม่กระปรี้กระเปร่าเท่าที่ควรทำให้มีชีวิตเพียงครึ่งเดียว การตามรักษาจิตให้เป็นปกติบริสุทธิ์อยู่เสมอ เป็นการเติมคุณภาพชีวิตให้เต็มร้อยเพราะชีวิตที่แท้ต้องมีกายและจิตที่สมดุล จงตระหนักไว้เสมอว่า รักชีวิตต้องไม่ทิ้งจิตใจให้บกพร่องหิวโหย

ชีวิตจิตใจเชื่อมโยงใกล้ชิด การดูแลจิตใจให้ปกติไม่ถูกโรคภัยและกิเลสเบียดเบียนจึงภารกิจหลักของผู้รักชีวิตจิตใจทุกคน.



ขอกราบนมัสการขอบคุณ

พระมหาธวัชชัย คุณากโร (เกื้อเกตุ) วัดอตัมมยตาราม ตั้งอยู่ ณ เมืองวูดดิลวิลล์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

เอื้อเฟื้อข้อมูล

นาฬิกาชีวิต


หนังสือนาฬิกาชีวิตหาซื้อได้ที่ร้าน ชีวิตจิตใจโคราช ทั้งแบบปลีกและส่งค่ะ